เมื่อวันก่อนฟุลไบรท์เพิ่งประกาศรับสมัครทุนForeign Language Teaching Assistant Program หรือทุนFLTA ไป ซึ่งทุน FLTA เป็นอีกทุนที่คนสนใจสมัครเยอะมากเพราะถึงแม้จะไม่ใช่ทุนปริญญา แต่ก็มีความดีงามน่าสนใจสุด ๆ เป็นทุนสำหรับอาจารย์สอนภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยหรือมัธยมของรัฐ แต่ให้ไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยอเมริกันเป็นเวลา9 เดือน แล้วระหว่างนั้นก็ให้ลงเรียนวิชาระดับpostgraduate ที่สนใจได้ทุนนี้เลยมีความเข้มข้นทั้งในแง่การสอน การเรียน และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ขั้นตอนการสมัครทุน FLTA นับว่าไม่ยุ่งยาก แต่คำถามเยอะมาก จึงอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรขอสรุปคำแนะนำของพี่ ๆ ศิษย์เก่าทุนนี้และพี่หน่อย วนิดา ผู้ดุแลทุนที่เคยคุยไว้ใน FLTA: Tips for Application and Interview (ลิงก์ด้านล่าง)มาให้พอเป็นแนวทางตามนี้
1. อ่านก่อนทำยำให้ได้ outline
เนื่องจากมีคำถามเยอะพี่ ๆ ทุกคนจึงแนะนำว่าให้เข้าไปอ่านคำถามทั้งหมดก่อน ไม่ต้องรีบทำเลย ค่อย ๆทำวันละนิดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องทำเรียงข้อ เพราะเมื่อสร้าง account แล้วเราสามารถ log in เข้าไปแก้ได้จนกว่าจะกด submit พออ่านคำถามแล้วเราก็จะได้วางแผนในการเขียนเห็นว่าคำถามไหนสอดคล้องกันบ้าง ทำ outline ออกมาว่าจะตอบอะไรตรงไหนมีความเชื่อมโยงกันยังไง ที่ต้องทำ outlineส่วนนึงเพราะจะได้ใช้เนื้อที่ให้มีประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแต่ะละคำถามจะจำกัดจำนวนคำตอบถ้ามีเนื้อหาซ้ำเยอะ ก็เสียเนื้อที่เยอะโดยใช่เหตุ หรือไม่ก็อาจจะน้ำเยอะไม่เข้าประเด็น
2. มีรับต้องมีให้
ผู้สมัครส่วนมากมักจะเน้นว่าทุนนี้ดียังไงไปแล้วจะมีประโยชน์ยังไง ไม่ว่าจะต่อตัวเอง นักเรียน โรงเรียน ฯลฯ แต่ลืมไปว่าทุนและมหาวิทยาลัยเขาต้องการคนแบบไหนพูดอีกอย่างก็คือ เราจะมี contributionให้ทุนและมหาวิทยาลัยยังไงบ้าง เทียบกับคนอื่นแล้วทำไมเขาต้องเลือกเรา
3. ตรวจทาน แก้ไขในแบบของเรา
เขียนเสร็จอย่าเพิ่งรีบส่งตรวจทานหลาย ๆ รอบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ตัวสะกด หรือไวยากรณ์ สำหรับทุนอื่นกรรมการอาจจะไม่ได้เข้มเรื่องภาษามากแต่ทุนนี้รู้กันอยู่ว่าเป็นทุนสำหรับอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเลยต้องให้สมศักดิ์ศรีนิดนึง มีความคาดหวังว่าภาษาต้องดีกว่าคนทั่วไปคือไม่จำเป็นว่าต้องใช้ศัพท์หรูหรา หรือประโยคซับซ้อนอะไร ให้ชัดเจนลื่นไหลก็ใช้ได้จะให้คนอื่นช่วยอ่านก็ไม่มีปัญหา แต่อย่าให้เกลาจนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเองเลย
4. Plagiarismนิสัยใหม่ต้องให้ชิน
เรื่องการคัดลองผลงานนี้สำหรับฟุลไบรท์ถือเป็นเรื่องใหญ่มากถึงมากที่สุด แล้วก็เป็นเรื่องที่คนไทยพลาดกันมากด้วยบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่ เช่น การ “ขอยืม”ประโยคที่พูดได้ตรงใจกว่าที่เราเขียนเอง ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหลัก ก็ถือเป็น plagiarism แล้วดังนั้นจึงต้องระวังกันเป็นพิเศษ ใบสมัครทุกใบของฟุลไบรท์จะต้องผ่าน plagiarism check ก่อนเข้าสู่กระบวนการ prescreening และเมื่อได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับทุนแล้วก็จะต้องส่งไปเช็คอีกทีที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเราเคยคุยกันเรื่องนี้แล้วเข้าไปดูได้เลยตามลิงก์ข้างล่าง
5. เอกสารประกอบ ต้องรอบคอบมากๆ
นอกจากต้องดูว่าครบรึเปล่าเกินรึเปล่า (พวกที่ไม่ได้ขออย่าง portfolio ไม่ต้องส่งมานะไม่มีผลอะไรใด ๆ ต่อการสมัคร กินพื้นที่โดยใช่เหตุ และอาจทำให้เกิด bad impression ได้ด้วย) อ่านได้ชัดเจนไม่พร่ามัว โดยเฉพาะตัวtranscript เพราะตัวค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว นอกจากนี้ไฟล์ต้องไม่ใหญ่เกินไปเพราะจะเสียเวลาในการโหลดนาน ที่สำคัญอีกอย่างคือเอกสารทุกอย่างต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือถ้าตัวจริงมีแต่ภาษาไทย เช่นเอกสารรับรองการเปลี่ยนชื่อก็ต้องมีฉบับแปลแนบมาด้วย
6. ข้อมูลติดต่อกลับเช็คนิดชีวิตจะเปลี่ยน
อย่าลืมเช็คว่าข้อมูลติดต่อกลับของเราทั้งอีเมลและเบอร์มือถือ ถูกต้องครบถ้วน สามารถติดต่อได้จริง ๆ เวลาแจ้งผล มีคำถามหรือมีปัญหาเกี่ยวกับใบสมัครถ้าไม่ด่วนมากปกติพี่ ๆ จะติดต่อทางอีเมลก่อน ถ้าเห็นเงียบไปก็จะโทรตามอีกทีบางคนให้มาแต่อีเมล แล้วข้อความก็ไปถูกกักไว้ใน junk หรือ spam ไม่สามารถโทรตามได้อีกต่างหากเพราะไม่ได้ให้เบอร์ไว้บางคนให้เบอร์ไว้ แต่โทรแล้วไม่มีคนรับ ก็อาจจะเสียโอกาสไปได้ง่าย ๆ แบบนี้
ใครสนใจรีบเข้าไปดูรายละเอียดและเตรียมตัวได้เลยหมดเขตรับสมัคร 30 พฤษภาคม 2565 นี้นะ
เข้าไปฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมตัวสมัครทุน FLTA ได้ที่
FLTA: Tips for Application and Interview
https://web.facebook.com/FulbrightThailand/videos/823758118508866
ฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ FLTA ที่
https://www.facebook.com/353795897307/videos/535152477663150
อ่านบทสัมภาษณ์ศิษย์เก่า FLTA เกี่ยวกับประสบการณ์พิเศษได้ในหนังสือ“ฟุลไบรท์ในมุมเรา”
PDF: https://shortest.link/1imb
Flip Book: https://anyflip.com/afeb/buat/
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับplagiarism ที่
https://www.fulbrightthai.org/knowledge-sharing/tips-for-application-plagiarism