Home
>
Knowledge Sharing
3 คำสำหรับทุน TEA

ฟุลไบรท์เพิ่งเปิดรับสมัครทุนTeaching Excellence and Achievement Program หรือเราเรียกกันสั้น ๆ ว่า TEA ไปเมื่อวาน เลยจะขอคั่นรายการ “สาขาอยากแนะนำ” ด้วยการชวนคุยเกี่ยวกับทุนนี้กันสักหน่อย

 

ทุนTEAเป็นทุนระยะสั้น 6 อาทิตย์ สำหรับครูมัธยมรัฐและเอกชนจากหลายกลุ่มวิชาไม่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ที่ผ่านมา เราก็มีคุณครูผู้รับทุนจากสาขาวิทยาศาสตร์สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ ด้วย เลยอยากเชียร์ให้คุณครูจากทุกกลุ่มมาสมัครกัน

 

แล้วทุนนี้น่าสนใจยังไง เราไปถามอาจารย์หมู สงวนศักดิ์ โกสินันท์ผู้รับทุนปี 2010 ไปที่ Graham Road Elementary School และอาจารย์นุ่น พันตรี สีขาว ผู้รับทุนปี2020 ไปที่ Montana State University แม้จะได้ทุนห่างกัน 10 ปีพอดี แต่ทั้งสองคนก็ให้คำตอบคล้าย ๆ กัน

 

อาจารย์หมูบอกว่าประสบการณ์ทุน TEA ของฟุลไบรท์นั้นต่างจากทุนอื่น เพราะ “ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาในสิ่งที่คุณสนใจอย่างลึกซึ้งและไม่มีที่สิ้นสุดด้วยเครือข่ายและความร่วมมือจากทั้งในและต่างประเทศที่เข้มแข็งด้วยแรงบันดาลใจที่สร้างด้วยตัวคุณเองและจากครอบครัวฟุลไบรท์”  

 

สำหรับเรื่องเครือข่ายนี้ ทุนเราเด่นมากจริง ๆ อาจารย์นุ่นช่วยย้ำว่า “ประสบการณ์ที่จะมีเฉพาะชาวฟุลไบรท์เท่านั้นคือประสบการณ์การสร้างเครือข่ายผู้นำทางการศึกษาทั่วโลกเพราะฟุลไบรท์มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างผู้นำทางการศึกษาอยู่แล้วทำให้ผู้ได้รับทุนฟุลไบรท์หรือผู้ที่ทำงานกับฟุลไบรท์ได้รู้จักและมีเครือข่ายด้านการศึกษากับคนทั่วโลกโดยอัตโนมัติและเครือข่ายเหล่านี้ก็เป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่งและทรงพลังที่จะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านการศึกษาต่อสังคมในระดับต่าง ๆ ได้จริง”

 

แม้ว่าจะเป็นทุนระยะสั้น แต่ impact ของทุนนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเลยเพราะนอกจากความรู้ที่ได้แล้วยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเสริมพลังให้กับผู้รับทุนในการพัฒนาตัวเองพร้อมทั้ง payit forward ให้กับนักเรียน ครูคนอื่น ๆ และชุมชน อาจารย์หมูเป็นผู้รับทุนคนนึงที่กลับมาแล้วเห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลงและพลังที่อัดแน่น

 

“สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้และพยายามทำเสมอคือการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์และการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่ส่งผลให้ได้นำความรู้และแนวคิดที่หลากหลายจากการได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศซึ่งได้เข้าร่วม  ประสบการณ์ในการพบปะแลกเปลี่ยนไปพัฒนาวิชาชีพและถ่ายทอดไปสู่ชุมชนครูคณิตศาสตร์ ครูสาขาอื่นและอยากพัฒนาตนเองเพื่อให้มีวิธีปฏิบัติด้านการสอนที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและยังสามารถนำเสนอในเวทีต่างๆ ทั้งภายในและระดับสากลได้”

 

ขณะที่อาจารย์นุ่นซึ่งเพิ่งจะกลับมาได้ไม่นาน แต่ก็มีแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมที่จะช่วยให้นักเรียนและชุมชนในชนบทเกิดความอยากเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองเพื่อจะได้ไม่จำกัดการเรียนรู้ให้อยู่แต่ในโรงเรียน

 

“ในฐานะที่เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษการได้รับทุนฟุลไบรท์แล้วได้ประชาสัมพันธ์ตนเองในสื่อ Social Media หลาย ๆ ทางทำให้ผมเป็นตัวอย่างกับนักเรียนและหลายคนได้เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในปัจจุบันและประโยชน์ที่จะได้รับจากการรู้และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในอนาคตซึ่งเป็นการสอนนักเรียนไปในตัว ส่วนตัวผมอาศัยอยู่ชนบท ชายแดนไทย จึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองแม้เขาจะไม่ได้อยู่ในเมืองที่มีความพร้อมมากกว่าผมมีความตั้งใจที่จะทำเพื่อชุมชนโดยใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้วและการที่ผมได้รับทุนฟุลไบรท์และมาอบรมตามโครงการ Fulbright TEA ยิ่งทำให้ผมมีพลังและแนวทางในการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อชุมชนด้วยภาษาอังกฤษมากขึ้นหลังจากอบรม Fulbright TEA เสร็จผมมีโครงการจะทำการสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กๆ ที่ชุมชนก่อนหากได้รับการตอบรับดีก็จะขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างขึ้นผมอยากทำให้สังคมโดยเฉพาะเด็ก ๆ ในชนบทได้มีเจตคติที่ดีและแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนเพราะการรู้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีโอกาสและได้เปรียบหลายๆ อย่างในการดำรงชีวิต ซึ่งผมก็ได้หารือกับผู้ใหญ่บ้านและกรรมการชุมชนแล้วเพียงรอดำเนินการในขั้นตอนต่อไป”

 

ขอสรุปสั้นๆ ว่า ทุน TEA นั้นเป็นกลไกช่วยเติมพลัง เสริมไอเดีย และให้เครือข่ายสนับสนุนที่จะช่วยพลักดันและสานฝันของคุณครูผู้รับทุนเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน และการพัฒนาคนในแนวทางของแต่ละคนนั่นเอง จึงอยากขอเชียร์ (อีกครั้ง) ให้คุณครูมาสมัครกัน

 

รายละเอียดและขั้นตอนการสมัครอยู่ในเว็บไซด์ฟุลไบรท์ที่

https://www.fulbrightthai.org/thai-active-scholarship-program/2023tea

 

อ่านบทสัมภาษณ์อาจารย์หมูและอาจารย์นุ่นฉบับเต็มในหนังสือ“ฟุลไบรท์ในมุมเรา”

PDF: https://shortest.link/1imb

Flip Book:  https://anyflip.com/afeb/buat/